ระหว่างที่การเซ็นสัญญานักเตะคนแรกของ เดวิด มอยส์ กำลังใกล้เข้ามาทุกทีๆ ตามที่กุนซือคนใหม่ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้บอกเอาไว้ เราลองมาย้อนรอยดูรายชื่อนักเตะทั้ง 99 คนที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ได้คว้าตัวมาเล่นให้กับสโมสรแห่งนี้ บางคนได้สร้างชื่อจนเป็นที่จดจำ ส่วนบางคนก็แทบไม่มีใครจำชื่อเขาได้เลยด้วยซ้ำ…
อดีตผู้จัดการทีมปีศาจแดงเคยกระชากตัวศูนย์หน้าของทีมคู่แข่งอย่าง เอริค คันโตน่า มาร่วมทีม นอกจากนั้นเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมาเขาก็ทุ่มเงิน 24 ล้านปอนด์คว้าตัว โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ ดาวซัลโวพรีเมียร์ ลีก ของอาร์เซนอลมาไล่ล่าแชมป์กับทีมที่แมนเชสเตอร์ด้วย
ดาวยิงดัตช์ได้ครอบครองลีกนี้อีกครั้งด้วยการซัดประตูเป็นกอบเป็นกำ และยังเป็นการพิสูจน์ว่าเซอร์ อเล็กซ์ คิดถูกท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำไมถึงได้ไปคว้าตัวนักเตะที่มีอายุขนาดนี้มาร่วมทีมด้วย
ในช่วงที่เขาเตรียมเซ็นเช็คให้กับทีมปืนใหญ่ในเดือนสิงหาคมปีก่อน บางทีเขาอาจจะคิดเอาไว้แล้วก็ได้ว่านี่จะเป็นการซื้อตัวนักเตะชั้นนำครั้งสุดท้ายของเขาแล้ว ก่อนที่จะปิดฉากอาชีพการคุมทีมไป
“ในฐานะนักเตะที่สร้างความแตกต่างให้กับทีม ผมคิดว่าเขาคือคนที่สามารถทำในสิ่งนั้นได้ดีที่สุดคนหนึ่งเท่าที่คุณจะจินตนาการถึงได้” เซอร์ อเล็กซ์ กล่าวเอาไว้เมื่อเดือนเมษายน “คันโตน่าเองก็เป็นนักเตะในแบบเดียวกัน และผมก็โชคดีมากๆ ที่ได้ศูนย์หน้าที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้มาร่วมทีม”
“ผมว่าเราต่างก็คาดหวังในตัวโรบินเอาไว้เยอะ เนื่องจากฟอร์มอันยอดเยี่ยมของเขากับอาร์เซนอลเมื่อปีก่อน ผมเห็นเขาเมื่อปีที่แล้ว และก็รู้ดีว่าเขาน่าจะเข้ากับเราได้ เขาไม่เคยทำให้เราต้องผิดหวังเลย”
อย่างไรก็ตามทุกการลงทุนมันก็เหมือนกับวางเดิมพัน ตลอดการซื้อตัวนักเตะจากทั้ง 26 ปีของเซอร์ อเล็กซ์ ตั้งแต่ วิฟ แอนเดอร์สัน มาจนถึง วิลฟรีด ซาฮา มันก็ไม่ได้มีแต่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป
เราได้นักเตะอย่าง รอย คีน แต่ก็เคยซื้อ เคลแบร์สัน เราได้นักเตะอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ แต่ก็เคยซื้อ ฟลอร็องต์ เอ็นกาลูล่า ในตอนที่ได้ตัว เอริค เฌมบ้า-เฌมบ้า มาร่วมทีมด้วยสัญญา 5 ปีใหม่ๆ ในปี 2003 เซอร์ อเล็กซ์ เคยพูดถึงเขาว่า “เขามีทั้งความเร็ว ความดุดัน และจ่ายบอลได้อย่างยอดเยี่ยม นี่คือแบบอย่างของนักเตะที่เรากำลังมองหา”
แต่กลายเป็นว่ามิดฟิลด์รายนี้ไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้ลงเล่นเป็นตัวจริงอย่างสม่ำเสมอด้วยซ้ำ แต่การจะไปกล่าวโทษเซอร์ อเล็กซ์ สำหรับการซื้อตัวครั้งนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก ตลอดหลายปีทีผ่านมานี้ทั้งเชลซี, อาร์เซนอล, ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต่างก็เคยทุ่มเงินลงทุนไปกับใครก็ไม่รู้กันมาแล้วทั้งนั้น
และนี่ก็คือการเซ็นสัญญานักเตะทั้งหมด 99 คนที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คว้าตัวมาร่วมทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาดูกันว่ามีใครที่คุ้มค่า และใครเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดกันบ้าง…
1987
วิฟ แอนเดอร์สัน (250,000 ปอนด์ จากอาร์เซนอล)
การซื้อตัวนักเตะคนแรกของเซอร์ อเล็กซ์ นั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างทีมใหม่
คะแนน 6
ไบรอัน แม็คแคลร์ (850,000 ปอนด์ จากเซลติก)
ยิงประตูมากมายให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และเริ่มค้นพบกับชัยชนะ
คะแนน 8
1988
มาร์ค ฮิวจ์ส (1.8 ล้านปอนด์ จากบาร์เซโลน่า)
การคว้าตัวฮิวจ์สกลับมายังสโมสรถือเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ
คะแนน 8
จิม เลห์ตัน (500,000 ปอนด์ จากอเบอร์ดีน)
โชว์ฟอร์มได้ไม่ค่อยสม่ำเสมอในฤดูกาลที่ 2 จากนั้น เลส ซีลี่ย์ ก็ก้าวขึ้นมาเป็นมือหนึ่งแทน
คะแนน 3
ลี ชาร์ป (200,000 ปอนด์ จากทอร์คีย์)
เฉิดฉายได้ไม่เต็มที่อย่างที่เขาควรจะเป็น
คะแนน 7
มัล โดนากี้ (650,000 ปอนด์ จากลูตัน ทาวน์)
เซ็นเตอร์ฮาล์ฟที่มีผลงานพอใช้ได้ตลอดการค้าแข้ง 4 ปีที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด
คะแนน 5
จูเลียโน่ มาโยราน่า (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากฮิสตัน)
ได้รับการเซ็นสัญญาหลังจากผ่านการทดสอบฝีเท้า แต่ก็แทบไม่เคยได้ลงเล่นเลย
คะแนน 2
ราล์ฟ ไมล์น (170,000 ปอนด์ จากบริสตอล ซิตี้)
เซอร์ อเล็กซ์ ถึงกับบอกเองว่าไมล์นคือการเซ็นสัญญาที่แย่ที่สุดของเขา
คะแนน 1
1989
ไมค์ ฟีแลน (750,000 จากนอริช ซิตี้)
ในช่วงแรกเขาคือตัวหลักของทีม แต่พอเวลาผ่านไปก็ได้ลงเล่นน้อยลง
คะแนน 6
นีล เว็บบ์ (1.5 ล้านปอนด์ จากน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์)
เขามีลูกจ่ายที่ยอดเยี่ยม รวมถึงการชิพบอลเข้าประตูที่เนียนตา แต่การที่เขามีเรื่องมีราวกับเซอร์ อเล็กซ์ ก็ทำให้อาชีพที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของเขาต้องจบลง
คะแนน 6
แกรี่ พัลลิสเตอร์ (2.3 ล้านปอนด์ จากมิดเดิ้ลสโบรช์)
แกนหลักในทีมชุดคว้าแชมป์แรกของเซอร์ อเล็กซ์ เช่นเดียวกับ สตีฟ บรู๊ซ เขามี 9 ปีที่ยอดเยี่ยมกับสโมสรแห่งนี้
คะแนน 8
พอล อินซ์ (1 ล้านปอนด์ จากเวสต์ แฮม ยูไนเต็ด)
เป็นมิดฟิลด์คนสำคัญในทีมชุดคว้าแชมป์ลีก 2 สมัยแรก แต่ก็ย้ายไปอินเตอร์ มิลาน หลังจากเซอร์ อเล็กซ์ ขนานนามเขาว่าเป็นบิ๊ก ไทม์ ชาร์ลี
คะแนน 7
แดนนี่ วอลเลซ (1.2 ล้านปอนด์ จากเซาแธมป์ตัน)
โชว์ฟอร์มได้ไม่ดีเท่ากับตอนที่เล่นให้เซาแธมป์ตัน
คะแนน 4
1990
เลส ซีลี่ย์ (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากลูตัน ทาวน์)
เป็นมือหนึ่งของทีมในฤดูกาล 1990-1991 เขาคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ กับคัพ วินเนอร์ส คัพ ได้กับทีม
คะแนน 6
เดนิส เออร์วิน (625,000 ปอนด์ จากโอลด์ แฮม แอธเลติก)
สุดยอดฟูลแบ็คที่เล่นได้อย่างคงเส้นคงวา
คะแนน 9
นีล วิทเวิร์ธ (45,000 ปอนด์ จากวีแกน แอธเลติก)
กองหลังรายนี้ได้เล่นแค่เกมเดียวจากทั้งหมด 4 ปี
คะแนน 1
1991
อังเดร แคนเชลสกี้ส์ (650,000 ปอนด์ จากชัคตาร์ โดเน็ตส์)
คว้าแชมป์กับทีมมากมายก่อนจะย้ายไปเล่นกับเอฟเวอร์ตันในปี 1995
คะแนน 8
ปีเตอร์ ชไมเคิล (500,000 ปอนด์ จากบรอนด์บี้)
สุดยอดผู้รักษาประตูตลอดกาลของสโมสร
คะแนน 9
พอล พาร์คเกอร์ (2 ล้านปอนด์ จากควีนส์ พาร์ค เรนเจอร์ส)
เล่นได้ดี แต่ก็โดน แกรี่ เนวิลล์ แย่งตำแหน่งไป
คะแนน 7
1992
แพ็ท แม็คกิบบอน (100,000 ปอนด์ จากพอร์ทอะดาวน์)
ได้ลงเล่นแค่เกมเดียว แถมเป็นเกมลีก คัพ ที่พบกับยอร์ค ซิตี้ เขาโดนไล่ออก และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แพ้ไป 0 – 3 จากนั้นเราก็ไม่เห็นเขาอีกเลย
คะแนน 1
ดิออน ดับลิน (1 ล้านปอนด์ จากแคมบริดจ์)
ขาหัก และอาชีพค้าแข้งกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ไม่เข้าที่เข้าทางอีกเลย
คะแนน 4
เอริค คันโตน่า (1.2 ล้านปอนด์ จากลีดส์ ยูไนเต็ด)
ยอดนักมายากล
คะแนน 10
1993
รอย คีน (3.7 ล้านปอนด์ จากน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์)
ผู้สืบทอดตำแหน่งตัวจริงของ ไบรอัน ร็อบสัน
คะแนน 9
1994
แกรม ทอมลินสัน (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากแบรดฟอร์ด)
ได้ลงเล่นเป็นตัวสำรองในลีก คัพ แค่ 2 เกม ตลอดระยะเวลา 4 ปีกับสโมสร
คะแนน 2
เดวิด เมย์ (1.4 ล้านปอนด์ จากแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส)
ขโมยซีนเล็กน้อยในช่วงฉลองถ้วยแชมเปี้ยนส์ ลีก เขาเป็นอะไหล่ที่ดีให้กับทีมในแผงหลังตลอด 9 ปีกับสโมสร
คะแนน 5
1995
แอนดี้ โคล (6 ล้านปอนด์ จากนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด)
นักเตะที่มีค่าตัวแพงที่สุดในเวลานั้น และก็สมควรแล้ว เพราะเขายิงให้กับทีมไปถึง 121 ประตู จากเวลา 6 ปี เขาเล่นได้อย่างเข้าขากับคู่กองหน้าอย่าง ดไวท์ ยอร์ค
คะแนน 8
นิค คัลกิ้น (250,000 ปอนด์ จากยอร์ค)
ได้สัมผัสบอลในเวทีพรีเมียร์ ลีก เพียงแค่จังหวะเดียวเท่านั้นให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
คะแนน 2
วิลเลี่ยม ปรูนิเยร์ (ไม่มีค่าตัว จากบอร์กโดซ์)
เขาได้มาร่วมทีมหลังผ่านการทดสอบฝีเท้า ปรูนิเย่ร์น่าจะขึ้นสู่ชุดใหญ่ได้แบบเต็มตัวหากไม่มีอาการบาดเจ็บรบกวน เขาเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการทำให้ทีมแพ้ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ 1 – 4 และหลังจากนั้นเขาก็ไม่เคยได้ลงเล่นกับทีมอีกเลย
คะแนน 1
1996
ไรมอนด์ ฟาน เดอร์ ฮาว (ไม่มีค่าตัว จากวิเทสส์)
เป็นตัวสำรองที่ดีให้กับใครก็ตามที่มาสวมเสื้อเบอร์ 1 ของทีม
คะแนน 6
รอนนี่ ยอห์นเซ่น (1.2 ล้านปอนด์ จากเบซิกตัส)
แทบจะถูกมองข้ามในปี 1999 ที่ทีมประสบความสำเร็จ แต่ยอห์นเซ่นก็เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยให้ทีมคว้าทั้ง 3 แชมป์ในปีนั้น
คะแนน 7
โทนี่ โคตัน (500,000 ปอนด์ จากแมนเชสเตอร์ ซิตี้)
ไม่เคยได้ลงเล่นสักเกม แถมมีชื่อเป็นตัวสำรองแค่เกมเดียว
คะแนน 1
คาเรล โพบอร์สกี้ (3.5 ล้านปอนด์ จากสลาเวีย ปราก)
ไม่สามารถโชว์ฟอร์มเหมือนในยูโร 96 ได้
คะแนน 5
ยอร์ดี้ ครัฟฟ์ (1.3 ล้านปอนด์ จากบาร์เซโลน่า)
ไม่สามารถเทียบได้เลยกับคุณพ่อของเขา
คะแนน 2
โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ (1.5 ล้านปอนด์ จากโมลด์)
หนึ่งในนักเตะขวัญใจแฟนบอล เขามักจะลุกจากม้านั่งสำรองลงมายิงให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อยู่บ่อยครั้ง เขาเป็นคนซัดประตูชัยในนัดชิงชนะเลิศแชมเปี้ยนส์ ลีก
คะแนน 8
1997
เท็ดดี้ เชอริงแฮม (3.5 ล้านปอนด์ จากท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์)
มักจะยิงประตูได้ในเวลาคับขันอยู่เสมอ
คะแนน 8
เอริค เนฟแลนด์ (ไม่มีค่าตัว จากไวกิ้ง)
ได้ลงเล่นในพรีเมียร์ ลีก แค่เกมเดียว จากทั้งหมด 3 ปี
คะแนน 3
เฮนนิ่ง เบิร์ก (5 ล้านปอนด์ จากแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส)
เป็นส่วนหนึ่งของทีมชุดคว้า 3 แชมป์ในฤดูกาล 1998-1999 แต่ก็แทบไม่ค่อยได้ลงเล่นหลังจาก ยาป สตัม ย้ายเข้ามา
คะแนน 7
1998
โจนาธาน กรีนนิ่ง (500,000 ปอนด์ จากยอร์ค)
ย้ายออกจากสโมสรเพื่อลงเล่นอย่างสม่ำเสมอในปี 2001 เนื่องจากมีอัตราการแข่งขันที่สูงในตำแหน่งมิดฟิลด์
คะแนน 3
ยาป สตัม (10.7 ล้านปอนด์ จากพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น)
มีปัญหากับเซอร์ อเล็กซ์ จากหนังสืออัตชีวประวัติของเขา แต่ก็เป็นหัวใจของเกมรับอันแข็งแกร่ง
คะแนน 8
เยสเปอร์ส บลอมควิสต์ (4.4 ล้านปอนด์ จากปาร์ม่า)
อาการบาดเจ็บทำให้เขาลงเล่นไม่ได้มากกว่า 38 เกม เขาเป็นส่วนหนึ่งของฤดูกาลที่คว้า 3 แชมป์
คะแนน 5
ดไวท์ ยอร์ค (12.6 ล้านปอนด์ จากแอสตัน วิลล่า)
ทำได้มากกว่ายิงประตู เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ทีมคว้า 3 แชมป์
คะแนน 8
1999
มาร์ค บอสนิช (ไม่มีค่าตัว จากแอสตัน วิลล่า)
ก็แทบไม่ได้ผิดพลาดอะไรมากนัก
คะแนน 5
ควินตัน ฟอร์จูน (1.5 ล้านปอนด์ จากแอตเลติโก มาดริด)
เป็นส่วนหนึ่งในทีมชุดคว้าแชมป์ลีก 3 สมัยติดต่อกัน แต่ก็ไม่เคยลงเล่นมากพอจนได้รับเหรียญรางวัลเลย
คะแนน 5
มัสซิโม่ ตาอิบี้ (4.5 ล้านปอนด์ จากเวเนเซีย)
ได้ลงเล่น 4 เกม เสียไป 11 ประตู และก่อความผิดพลาดมากมาย
คะแนน 1
มิกาแอล ซิลแวสตร์ (4 ล้านปอนด์ จากอินเตอร์ มิลาน)
เล่นได้ทุกตำแหน่งในแผงแบ็คโฟร์ ทำผลงานใช้ได้ มีความยืดหยุ่นสูง
คะแนน 7
โบยาน ยอร์ดิช (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากไอเอฟ บรอมมาพอจคาร์น่า)
น่าจะไปได้ดีกว่านี้ แต่ก็น่าเสียดายพรสวรรค์ เป็นอีกคนที่น่าผิดหวัง
คะแนน 2
2000
ฟาเบียง บาร์กเตซ (7.8 ล้านปอนด์ จากโมนาโก)
ทำผลงานใช้ได้ แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นเหมือนกับตอนที่โด่งดังขึ้นมากับทีมชาติฝรั่งเศส
คะแนน 6
2001
รุด ฟาน นิสเตลรอย (19 ล้านปอนด์ จากพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น)
กลายเป็นสุดยอดการซื้อตัว และเป็นดาวซัลโวพรีเมียร์ ลีก รวมถึงนักเตะยอดเยี่ยมแห่งปีในปี 2003 ด้วย
คะแนน 9
ฮวน เซบาสเตียน เวรอน (28 ล้านปอนด์ จากลาซิโอ)
เซอร์ อเล็กซ์ เชื่อว่านักเตะชาวอาร์เจนไตน์คนนี้จะประสบความสำเร็จกับทีม แต่เขากลับไม่เป็นเช่นนั้น
คะแนน 4
รอย แคร์โรลล์ (2.5 ล้านปอนด์ จากวีแกน แอธเลติก)
ตลอด 4 ปีกับสโมสร เขากลับเป็นที่จดจำจากการควักลูกยิงของ เปโดร เมนเดส ออกมาจากเส้นประตู
คะแนน 5
โลร็องต์ บล็องก์ (ไม่มีค่าตัว จากอินเตอร์ มิลาน)
ตอนนั้นเขาไม่ได้เป็นสุดยอดกองหลังอย่างที่เคยเป็นแล้ว แม้จะช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ได้ก็ตาม
คะแนน 5
คีแรน ริชาร์ดสัน (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากเวสต์ แฮม ยูไนเต็ด)
ลงเล่นได้หลายตำแหน่ง แต่ก็ไม่สามารถหาตำแหน่งในทีมได้เลย
คะแนน 4
2002
ดิเอโก้ ฟอร์ลัน (6.9 ล้านปอนด์ จากอินเดเพนเดียนเต้)
ต้องใช้เวลาถึง 27 เกมกว่าจะยิงลูกแรกให้กับทีมปีศาจแดงได้ ถือเป็นอีกคนที่ถือเป็นการใช้เงินโดยสิ้นเปลือง
คะแนน 3
ริโอ เฟอร์ดินานด์ (27 ล้านปอนด์ จากลีดส์ ยูไนเต็ด)
กลายเป็นสุดยอดกองหลังของประเทศ
คะแนน 9
ลุค สตีล (500,000 ปอนด์ จากปีเตอร์โบโร่)
เป็นการเดิมพันอีกครั้ง แต่สตีลก็ไม่สามารถผลักดันตนเองขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ของเซอร์ อเล็กซ์ ได้ตลอด 4 ปีกับสโมสร
คะแนน 3
ริคาร์โด้ โลเปซ (1.5 ล้านปอนด์ จากบายาโดลิด)
เป็นมือสามรองจาก ฟาเบียง บาร์กเตซ และ รอย แคร์โรลล์
คะแนน 4
2003
ดาบิด เบลลิยง (2 ล้านปอนด์ จากบอร์กโดซ์)
ความเร็วของเขาช่วยอะไรเขาได้ไม่มากนัก
คะแนน 3
เอริค เฌมบ้า-เฌมบ้า (3.5 ล้านปอนด์ จากน็องต์ส)
หนึ่งในนักเตะที่ต้องมีชื่อใน 11 ตัวจริงยอดแย่ตลอดกาลของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
คะแนน 2
ทิม โฮเวิร์ด (2.3 ล้านปอนด์ จากเมโทร สตาร์ส)
คว้าโอกาสของเขาเอาไว้ไม่ได้
คะแนน 5
คริสเตียโน่ โรนัลโด้ (12.3 ล้านปอนด์ จากสปอร์ติ้ง ลิสบอน)
กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลก
คะแนน 10
เคลแบร์สัน (6.5 ล้านปอนด์ จากพาราเนียนเซ่)
โชว์ฟอร์มได้ดีในฟุตบอลโลก 2002 กับบราซิล แต่กลับทำอะไรไม่ได้เลยกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
คะแนน 3
ลี มาร์ติน (200,000 ปอนด์ จากวิมเบิลดัน)
สร้างชื่อได้ในเวทีเดอะ แชมเปี้ยนชิพ แต่ก่อนหน้านั้นเขาก็ไม่ใช่ตัวแทนที่ดีของ ไรอัน กิ๊กส์ ทางกราบซ้าย
คะแนน 3
2004
ตง ฟางโจว (500,000 ปอนด์ จากต้าเหลียน ซื่อเต๋อ)
ไม่สามารถสร้างชื่อในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด ได้เลย
คะแนน 1
หลุยส์ ซาฮา (12.8 ล้านปอนด์ จากฟูแล่ม)
ยิงได้ 1 ประตูจากทุกๆ 3 เกม ที่จริงเขาน่าจะทำได้ดีกว่านี้หากไม่มีอาการบาดเจ็บรบกวน
คะแนน 6
อลัน สมิธ (7 ล้านปอนด์ จากลีดส์ ยูไนเต็ด)
ถูกถอยลงไปเล่นเป็นมิดฟิลด์ตัวรับ ก่อนที่จะขาหักจนส่งผลต่ออาชีพค้าแข้ง
คะแนน 5
กาเบรียล ไฮน์เซ่ (6.9 ล้านปอนด์ จากปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง)
ถือว่าทำได้ดี แต่เวลาของไฮน์เซ่กับสโมสรนั้นมีน้อยนิด
คะแนน 7
เลียม มิลเลอร์ (ไม่มีค่าตัว จากเซลติก)
ฟอร์มตกอย่างสมบูรณ์ และได้เตะเกมลีกเพียงแค่ 9 นัดเท่านั้น
คะแนน 2
เวย์น รูนี่ย์ (25.6 ล้านปอนด์ จากเอฟเวอร์ตัน)
น่าจะเป็นการเซ็นสัญญาที่ดีที่สุดอีกครั้ง หากว่าไม่มีเรื่องวุ่นๆ นอกสนามเข้ามาอีก
คะแนน 8
ฟลอร็องต์ เอ็นกาลูล่า (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากอันเดอร์เลชท์)
เคยถูกขนานนามว่าเป็นนิว ปาทริค วิเอร่า แต่เอ็นกาลูล่าก็ไม่เคยได้ลงเล่นเลยแม้แต่เกมเดียว
คะแนน 2
2005
เนมานย่า วิดิช (7 ล้านปอนด์ จากสปาร์ตัก มอสโกว์)
กลายมาเป็นหนึ่งในสุดยอดกองหลังของยุโรป
คะแนน 9
ปาทริซ เอฟร่า (5.5 ล้านปอนด์ จากโมนาโก)
ถูกวิจารณ์พอสมควร แต่ก็กลายมาเป็นสุดยอดแบ็คซ้ายของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่อจาก เดนิส เออร์วิน
คะแนน 8
เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ (2 ล้านปอนด์ จากฟูแล่ม)
มีแค่ ปีเตอร์ ชไมเคิล ที่อาจบอกได้ว่าเป็นผู้รักษาประตูที่นิ่งกว่าเขากับสโมสรแห่งนี้
คะแนน 9
พาร์ค จี ซอง (4 ล้านปอนด์ จากพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น)
เป็นคนที่พึ่งพาได้ตลอดการค้าแข้งกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
คะแนน 7
เบน ฟอสเตอร์ (1 ล้านปอนด์ จากสโต๊ค ซิตี้)
ซื้อมาในเวลาไล่เลี่ยกับ เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ นั่นทำให้เขาแทบไม่ค่อยได้โอกาสลงเล่นเลย
คะแนน 5
2006
ไมเคิล คาร์ริค (18.6 ล้านปอนด์ จากท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์)
หนึ่งในการเซ็นสัญญาที่ดีที่สุดของเซอร์ อเล็กซ์
คะแนน 9
2007
โอเว่น ฮาร์กรีฟส์ (17 ล้านปอนด์ จากบาเยิร์น มิวนิค)
น่าจะไปได้สวยกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เขาสุดยอดเมื่อฟิตสมบูรณ์ แต่ก็น่าเสียดายที่แทบไม่ค่อยพร้อมใช้งานเลย
คะแนน 4
อันแดร์สัน (20 ล้านปอนด์ จากปอร์โต้)
อาการบาดเจ็บทำให้พัฒนาการของเขาหยุดชะงักลง ซึ่งส่งผลต่ออนาคตในระยะยาว
คะแนน 6
หลุยส์ นานี่ (21 ล้านปอนด์ จากสปอร์ติ้ง ลิสบอน)
ยังถือว่าไม่คุ้มค่าตัว
คะแนน 6
โทมัสซ์ คุสซ์แซ็ก (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากเวสต์ บรอมวิช อัลเบี้ยน)
เป็นตัวแทนที่ดีของ เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ แต่ก็ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
คะแนน 5
คาร์ลอส เตเวซ (20 ล้านปอนด์ จากเวสต์ แฮม ยูไนเต็ด)
ยิงประตู และพาทีมคว้าแชมป์ได้ทั้ง 2 ฤดูกาลกับทีม ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กับทีมคู่ปรับร่วมเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้
คะแนน 8
2008
มานูโช่ (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากเปโตร แอตเลติโก)
แทบไม่มีพัฒนาการให้เห็นเลย
คะแนน 2
ราฟาเอล ดา ซิลวา (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากฟลูมิเนนเซ่)
กลายมาเป็นหนึ่งในฟูลแบ็คที่ดีที่สุดในวงการฟุตบอลไปแล้ว
คะแนน 8
ฟาบิโอ ดา ซิลวา (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากฟลูมิเนนเซ่)
ยังคงทำได้ไม่ดีเท่ากับราฟาเอลฝาแฝดของเขา
คะแนน 6
โรดริโก้ พอสเซบอน (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากนาซิออนนาล)
มาพร้อมกับคู่แฝด ดา ซิลวา แต่ก็ไม่สามารถหาตำแหน่งในแดนกลางของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้ จนต้องย้ายไปเล่นกับซานโตส
คะแนน 3
ดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ (30 ล้านปอนด์ จากท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์)
เขาอาจจะดูเฉื่อยชาไปนิด แต่ก็พาทีมคว้าแชมป์พร้อมทั้งคว้ารองเท้าทองคำมาแล้ว
คะแนน 8
2009
โซรัน โทซิช (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากปาร์ติซาน)
ย้ายไปอยู่กับซีเอสเคเอ มอสโกว์ ด้วยความผิดหวัง แต่ก็ยังดีกว่าอยู่ที่เดิมแล้วมีโอกาสลงสนามไม่มาก
คะแนน 3
ปอล ป็อกบา (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากเลอ อาฟร์)
เขาไม่อดทนรอโอกาส และก็ย้ายไปพัฒนาฝีเท้ากับทีมอื่น
คะแนน 3
ริทชี่ เดอ แลต (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากสโต๊ค ซิตี้)
ส่วนใหญ่ใช้เวลากับการไปเล่นแบบยืมตัวตลอด
คะแนน 3
อันโตนิโอ วาเลนเซีย (16 ล้านปอนด์ จากวีแกน แอธเลติก)
ด้วยฟอร์มที่ดีที่สุด เขาสามารถฉีกกองหลังเป็นชิ้นๆ ด้วยความเร็ว
คะแนน 7
ไมเคิ่ล โอเว่น (ไม่มีค่าตัว จากนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด)
เจ็บตลอดเวลา
คะแนน 4
กาเบรียล โอแบร์กต็อง (3 ล้านปอนด์ จากบอร์กโดซ์)
แมนเชสเตอร์ไม่เคยมองหาปีกที่ดูเฉื่อยชาเช่นนี้
คะแนน 4
มาเม่ บิราม ดิยุฟ (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากโมลด์)
ยิงได้ในเกมที่ 2 ของเขา แต่ก็ไม่สามารถผลักดันตัวเองเข้าสู่ทีมได้
คะแนน 3
2010
เบเบ้ (7.4 ล้านปอนด์ จากวิตอเรีย เด กิมาไรส์)
แคนดิเดตสำหรับการซื้อตัวที่แย่ที่สุดตลอดการของเซอร์ อเล็กซ์ กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
คะแนน 1
คริส สมอลลิ่ง (10 ล้านปอนด์ จากฟูแล่ม)
ดูเหมือนว่าเขาน่าจะไปได้สวย
คะแนน 6
ฮาเวียร์ เอร์นานเดซ (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากกัวลาดาฮาร่า)
จอมล่าตาข่าย
คะแนน 7
2011
อันเดอร์ส ลินเดการ์ด (3.5 ล้านปอนด์ จากอาเลซุนด์)
เชื่อใจได้ในระดับหนึ่ง
คะแนน 6
ฟิล โจนส์ (16.5 ล้านปอนด์ จากแบล็คเบิร์น โรเวอร์ส)
เซอร์ อเล็กซ์ บอกเองว่านี่เป็นหนึ่งในการเซ็นสัญญาที่ดีที่สุดของเขา
คะแนน 7
แอชลี่ย์ ยัง (17 ล้านปอนด์ จากแอสตัน วิลล่า)
ยังทำผลงานได้ไม่ดี ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
คะแนน 6
ดาบิด เด เคอา (19 ล้านปอนด์ จากแอตเลติโก มาดริด)
เริ่มต้นได้ไม่ค่อยสวย แต่ก็ดูดีขึ้นเรื่อยๆ
คะแนน 7
2012
นิค พาวเวลล์ (6 ล้านปอนด์ จากครูว์ อเล็กซานดร้า)
ดูเหมือนว่าน่าจะมีอนาคตที่สดใสในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด
คะแนน 6
ชินจิ คากาวะ (12 ล้านปอนด์ จากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์)
ยังโชว์ผลงานได้ไม่เต็มที่
คะแนน 6
โรบิน ฟาน เพอร์ซี่ (24 ล้านปอนด์ จากอาร์เซนอล)
ผู้สร้างปรากฏการณ์ตัวจริง
คะแนน 9
อันเจโล่ เฮนริเกซ (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากยูนิเวอร์ซิดัด เด ชิลี)
ที่ผ่านมาเขาเพิ่งไปเล่นแบบยืมตัวกับวีแกน แอธเลติก
คะแนน 5
อเล็กซานเดอร์ บุตต์เนอร์ (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากวิเทสส์)
น่าจะเป็นตัวแทนของ ปาทริซ เอฟร่า ได้ในอนาคต
คะแนน 5
วิลฟรีด ซาฮา (ไม่เปิดเผยค่าตัว จากคริสตัล พาเลซ)
เป็นการปิดฉากการซื้อตัวของเซอร์ อเล็กซ์ ด้วยตัว Z พอดี เป็นนักเตะคนสุดท้ายที่เซอร์ อเล็กซ์ ซื้อเข้ามา แต่ไม่ได้ใช้งานด้วยตัวเอง เท่าที่เห็นฟอร์มตอนนี้ น่าจะกลายเป็นตัวหลักของทีมในตำแหน่งปีกขวาได้ไม่ยาก
คะแนน 7
SiR KeaNo
2001-2024 RED ARMY FANCLUB Official Manchester United Supporters Club of Thailand. #ThaiMUSC